อาชีพเกษตรกรหากพูดตามหลักแล้ว
มันคืออาชีพที่อยู่คู่กับประเทศไทยมาอย่างยาวนานตั้งแต่บรรพบุรุษ และด้วยประสบการณ์ที่มานานหลายร้อยปีในการทำกสิกรรม
ประกอบกับภูมิประเทศของเราที่เอื้อต่อการปลูกพืชผลไม้ จึงทำให้สินค้าเกษตรมีมากมายหลากหลายกลายเป็นที่นิยมของนานาชาติ
ทำให้กลายเป็นสินค้าหลักในการส่งออกไปสู่ต่างประเทศ สร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจของประเทศอย่างมหาศาล
ทว่า อาชีพเกษตรกรก็ยังไม่ใช่อาชีพที่ได้ยอมรับจากสังคมมากนัก
โดยเฉพาะในเชิงของอาชีพที่สร้างรายได้ อาจด้วยตลอดหลายปีที่ผ่านมา การค้าหรือการทำธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับสินค้าเกษตรของเรามักจะมุ่งไปที่ขายผลไม้สด
ซึ่งปกติผลไม้ก็อายุสั้นเน่าเสียง่ายอยู่แล้ว
แถมยิ่งเมื่อก่อนไม่มีการค้าที่หลากหลายเหมือนเดี๋ยวนี้จึงเน้นไปขายที่พ่อค้าคนกลาง
ไหนจะเรื่องปัญหาของความอ่อนไหวของผลผลิตต่อสภาพอากาศที่แปรปรวน
ทำให้บางครั้งผลผลิตออกมาน้อยหรือมากเกินไปหรือบางครั้งก็อาจไม่ได้ผลผลิตที่คุณภาพเลย
สิ่งที่ไม่อาจควบคุมได้เหล่านี้ย่อมสร้างผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรไม่มากก็น้อย
จนเมื่อวันนี้วงการวิจัยได้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงไปอย่างอุตสาหกรรมทุกประเภทไม่เว้นแม้กระทั้งในวงการเกษตรกรรม
ซึ่งผลวิจัยที่เกี่ยวกับเกษตรได้ทำให้ผลิตภัณฑ์เกษตรก้าวข้ามข้อจำกัดได้อย่างน่าเหลือเชื่อ
ไม่ว่าจะการยืดอายุผลผลิตเกษตรให้ยาวขึ้นและถึงปัจจุบันแม้ผลไม้สดก็ยังเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคอยู่
แต่ผลไม้แปรรูปที่ทำเกิดสินค้าใหม่ ๆ มากมายซึ่งจะสามารถเจาะเข้าสู่ตลาดต่างประเทศและความต้องการที่กว้างยิ่งขึ้น
ผลิตภัณฑ์ลำไยทอดกรอบอบแห้งด้วยเทคนิคการทอดสุญญากาศผลการวิจัยจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้
คือตัวอย่างที่ดีในการปรับผลผลิตลำไยที่มีปริมาณมากเกินจนล้นตลาดทำให้ราคาลำไยราคาตก
จึงได้มีการวิจัยและแปรรูปเนื้อลำไยทอดกรอบอบแห้งด้วยเทคนิคการทอดสุญญากาศ
ซึ่งยืดอายุลำไยได้และต้นทุนยังถูกกว่าการอบแห้งหรืออบกรอบทั่วไป ทำให้ได้กำไรจากผลผลิตลำไยทอดกรอบอบแห้งด้วยเทคนิคการทอดสุญญากาศเพิ่มขึ้นด้วย
นอกจากสินค้าสำหรับรับประทานแล้ว ผลผลิตทางการเกษตรยังสามารถเล่นแร่แปรธาตุผ่านการวิจัยให้กลายเป็นสินค้าเพื่อความงามได้อีกด้วย
เช่น มาสก์ไบโอเซลลูโลสจากน้ำมะพร้าวเพื่อใช้ป้องกันการเกิดสีผิวเข้มผิดปกติหลังการรักษาผิวหน้าด้วยแสงเลเซอร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ที่ได้นำมะพร้าว แต่ไม่ว่างานวิจัยเหล่านี้จะดู
“เจ๋ง” ซักแค่ไหน
ถ้าขาดเรื่องของการตลาดหรือการประชาสัมพันธ์
โอกาสที่จะได้โชว์ว่าประเทศไทยมีวิจัยเจ๋ง ๆ แบบนี้ก็แทบจะไม่มีเลย
นั้นจึงเป็นที่มาของความร่วมมือระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์ กับสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) ในการผลักดันผลิตภัณฑ์ผลงานวิจัยผลไม้ของสถาบันการศึกษาชั้นนำสู่ตลาดต่างประเทศ
โดยนำร่องผ่าน 4 ผลงานที่ทำมาจากเกษตรได้แก่
1.
น้ำลำไยเข้มข้นกึ่งแท้พร้อมเนื้อลำไยในภาชนะบรรจุปิดสนิท
2.
ผลิตภัณฑ์ลำไยทอดกรอบ-อบแห้งด้วยเทคนิคการทอดสุญญากาศ
3.
ผลิตภัณฑ์รักษาสิวรูปแบบเม็ดบีดและเจลบรรจุเม็ดบีดจากสารสกัดมังคุด
4.
มาส์กไบโอเซลลูโลสจากน้ำมะพร้าวเพื่อใช้ป้องกันการเกิดสีผิวเข้มผิดปกติหลังการรักษาผิวหน้าด้วยแสงเลเซอร์
นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์
อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศย้ำชัดว่าสินค้าที่มีนวัตกรรมที่นำวัตถุดิบทางการเกษตรมาผลิต
คือสินค้าเป้าหมายในการผลักดันสินค้าไปอยู่ในเวทีต่างประเทศ โดยใช้เครื่องมือของทางกรมที่มีอยู่ผลักดันสินค้าที่มีนวัตกรรมเหล่านี้ออกสู่ตลาดต่างประเทศ
ทั้งการนำเข้าร่วมงานแสดงสินค้าทั้งในและต่างประเทศเพื่อแนะนำสินค้าและสร้างโอกาสในการส่งออกให้กับผู้ผลิต
การนำเข้าร่วมคณะผู้ประกอบการไปเจรจาธุรกิจในตลาดต่างประเทศ
การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายร่วมกับผู้นำเข้า ห้างสรรพสินค้าในตลาดเป้าหมาย
เพื่อแนะนำสินค้า และการเชิญให้มาพบปะเจรจากับผู้ซื้อในกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจ (Business Matching)
นับเป็นการส่งเสริมวงการเกษตรไทยที่ถือว่ามาถูกทางอย่างมาก
เนื่องจากเกษตรกรรมคืออาชีพหลักและนับเป็นจุดแข็งของประเทศไทย แต่การกระจายองค์ความรู้ให้ไปถึงเกษตรกรเพื่อให้เกิดความก้าวหน้ายังไม่ค่อยเข้มข้นมากเท่าไหร่นัก
การดึงเรื่องของวิจัยมาผสมกับสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพสูงของเรา ไม่เพียงชูให้ผลิตภัณฑ์ของเรามีความโดดเด่นขึ้นแล้ว
ยังเป็นการเสริมจุดแข็งของเราให้เพิ่มมากขึ้น แถมยังเพิ่มไปสู่สินค้าแปลใหม่
ที่ไม่ใช่เพียงการค้าขายผลไม้เป็นลูก ๆ หรือผลไม้อบแห้งแต่ยังเป็นผลิตภัณฑ์ Non Food ได้อีกด้วย
ที่เหลือหลังจากนี้คงจะได้เห็นผู้ประกอบการได้นำงานวิจัยสุดว้าวเหล่านี้ไปพัฒนาต่อยอดจนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและสามารถทำการค้าระหว่างประเทศได้
“เพราะไม่เพียงเป็นการโชว์นวัตกรรมสินค้าเกษตรสู่สายตาชาวโลก แต่ยังเป็นก้าวสำคัญของวงการวิจัยไทยในการยอมรับในระดับสากลอีกด้วย”
คอลัมน์ลับเฉพาะ : วิจัย+สินค้าเกษตร ดึงฐานรากไปสู่ตลาดโลก
Reviewed by tonygooog
on
06:00:00
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: