Add Me ON

About

คอลัมน์ ลับเฉพาะ : ค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยไทย 0% เป็นชาติ เพราะเหตุใด

เรื่องสกลวรรธน์ ธัญคุณากูลรัชต์ 

Key Data
1.ค่าใช้จ่ายด้านการการวิจัยและพัฒนาของไทยหรือ Gross Expenditures on R&D (GERD) ต่อ GDP ของประเทศ          
วันที่ : รวบรวมข้อมูลปี 56,57,58 และ 61
ข้อมูลจาก : สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ (สวทน.)
-2556 ค่าใช้จ่ายด้านการการวิจัยและพัฒนาของไทย 0.47%
-2557 ค่าใช้จ่ายด้านการการวิจัยและพัฒนาของไทย 0.48%
-2558 ค่าใช้จ่ายด้านการการวิจัยและพัฒนาของไทย 0.62%
-2561 ค่าใช้จ่ายด้านการการวิจัยและพัฒนาของไทย 1% (ตั้งเป้า)
แหล่งข้อมูล : 1.http://stiic.sti.or.th/              
                      2.http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/744638

2. สัดส่วนผู้ประกอบการที่มีนวัตกรรม
วันที่ : 25 มีนาคม 2559
ข้อมูลจาก : สำนักงานคณะกรรมนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ
-ผู้ประกอบการที่มีนวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์ทั้งหมด 10,221 ราย (10%) ไม่มี 93,986 ราย (90%)
-ผู้ประกอบการที่มีนวัตกรรมด้านกระบวนการทั้งหมด 4,734 ราย (5%) ไม่มี 99,473 ราย (95%)
แหล่งข้อมูล : http://stiic.sti.or.th/

3.รัฐบาลกับมาตรการส่งเสริมเอกชนด้านนวัตกรรม
วันที่ : ปี 2559
ข้อมูลจาก : กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
-ยกเว้นภาษีส่วนที่จ่ายไปเพื่อทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม 300% กำหนดระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์เป็นเวลา 5 ปี
-มาตรการดังกล่าวมีผลย้อนหลังตั้งแต่ 1 มกราคม 2558 - 31 ธันวาคม 2562
-กองทุนสนับสนุนการพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund) 2,500 ล้านบาท


--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                “ค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยความหมายก็ตามชื่อเลย มันเป็นตัวชี้วัดว่าประชาชนหรือรัฐบาลในประเทศนั้นๆ มีค่าใช้จ่ายในการทำการวิจัยประมาณเท่าไหร่และยังสะท้อนถึงความสนใจด้านการพัฒนานวัตกรรมของประเทศได้เป็นอย่างดี ซึ่งหากมองกันที่ค่าใช้จ่ายการวิจัยของไทย ต้องบอกเลยว่ายังอยู่ในอาการโคม่า เพราะค่าใช้จ่ายเพื่อทุ่มทุนทางการวิจัยของไทยยังไม่เคยแตะ 1% เป็นทศวรรษ ถ้าหากเป็นแบบนี้ต่อไป ดูท่าฝันการเป็นประเทศไทย 4.0 ของรัฐบาลคงเป็นหมันแล้วกระมัง

แต่รัฐบาลก็ยังไม่เคยหมดหวัง เพราะจากการรายงานของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ (สวทน.) ประจำปี 2558 ประเทศไทยเราใช้งบประมาณด้านวิจัยไป 0.62% ต่อ GDP  เพิ่มมามากเมื่อเทียบจากปี 2548 ที่เรามีแค่ 0.09% อีกทั้งแนวคิดของนักวิจัยก็เปลี่ยนไป จากนักวิจัยที่เน้นปักหลักทำงานกับรัฐ นักวิจัยก็เริ่มมีการขยับขยายมาทำงานฝั่งเอกชนมากขึ้น ด้วยแนวโน้มตัวเลขที่ดูใกล้ฝั่งฝันมากขึ้น เลยได้มีการคาดการณ์ว่าในปี 2559 ค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยจะต้องเหยียบถึง 1% อย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม แม้ สวทน.จะยังไม่เคาะค่าใช้จ่ายด้านวิจัยในปี 59 ออกมา แต่ปัจจุบันในปี 2560 ได้มีการพยากรณ์ค่าใช้จ่ายด้านงานวิจัยปี 2561แล้วว่าต้องถึง 1% ของ GDP อีกครั้ง ซึ่งผิดปกติ เพราะไม่ว่าจะรัฐบาลหรือเอกชนก็ตามแต่ การตั้งเป้าหมายในปีต่อไปจะต้องยกระดับไปอีกขั้นหนึ่ง การที่นำเป้าหมายที่จะทำให้ได้ในปี 59 มาพูดเป็นเป้าหมายในปี 61 ก็สันนิษฐานได้ว่าในปี 2559 ค่าใช้จ่ายด้านวิจัยน่าจะยังไม่ถึง 1% อยู่ดี (เป็นการสันนิษฐาน วันที่ 13 ตุลาคม 2560) ซึ่งเป็นสิ่งบ่งชี้ว่าประเทศไทยยังมีการตื่นตัวด้านงานวิจัยน้อยเกินไป



บางคนอาจเกิดข้อสงสัยว่า แล้วของต่างประเทศเรื่องที่ค่าใช้จ่ายในการวิจัยมากกว่า มันมากกว่าเราเท่าไหร่ หากบอกว่า ฟ้ากับเหว ก็ไม่น่าเกินไปนัก เพราะต่อให้ย้อนไปปี 2554 ค่าใช้จ่ายในด้านวิจัยของประเทศเล็กๆ แต่ทรงอนุภาพด้านเศรษฐกิจอย่างญี่ปุ่น ก็อยู่ที่ 3.25% ซึ่งมากกว่าประเทศไทยในปัจจุบันอย่างมหาศาล ส่งผลให้ญี่ปุ่นมีนักวิทยาศาสตร์ชั้นแนวหน้าและเป็นตัวแทนในหลายสาขาอาชีพในฐานะผู้เชี่ยวชาญ นอกจากนั้นผลงานวิจัยยังถูกไปอ้างอิงเพื่อพัฒนาต่อยอดในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง หากพูดอีกนัยหนึ่งก็คือ เป็นการวิจัยและพัฒนาอย่างเข้มข้น พร้อมนำไปใช้จริงในเชิงเศรษฐกิจและสังคม มิใช่วิจัยมาขึ้นหิ้ง

จากปัญหาที่แก้ไม่ตกอยู่เช่นนี้ใครล่ะที่ต้องรับผิดชอบ จำเลยรายแรกที่มักโดนสังคมจับตาและโดนติติงอยู่เสมอคือรัฐบาล (ทุกยุค) ในการดำเนินนโยบายด้านการสนับสนุนและส่งเสริมงานวิจัยและนวัตกรรมที่ขาดความชัดเจน ประกอบกับปัญหาเศรษฐกิจที่ยังคงซบเซาอย่างต่อเนื่อง ทำให้การพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมในฟากเอกชนไม่เติบโต เนื่องจากรายได้ธุรกิจในภาพรวมก็อยู่ในภาวะฝืดเคือง ส่งผลให้แรงกระตุ้นในการเอาทุนไปทำการวิจัยพัฒนานั้นมีน้อยลง เพราะบางคนต้องเอางบส่วนวิจัยมาเป็นเงินหมุนเวียนเพื่อดิ้นรนในภาวะเศรษฐกิจที่ไม่สู้ดีเสียก่อน อีกทั้งการแข่งขันระหว่างนายทุนกับ SMEs ก็ดูเหมือนจะห่างชั้นและไม่มีทางที่ผู้ประกอบการรายเล็กๆ จะได้คว้าช้อนเงินช้อนทองกับเขาได้เลย Thaipublica สำนักข่าวออนไลน์ ให้ความเห็นด้านวิจัยและการแข่งขันทางธุรกิจว่า ปัญหาของวิจัยไม่โตมาจากการบริหารการแข่งขันทางธุรกิจของรัฐบาลที่ยังไม่ดีพอ ส่งผลให้การแข่งขันของอุตสาหกรรมภายในประเทศค่อนข้างต่ำ ประกอบกับกฎหมายยังไม่ค่อยเอื้อต่อการแข่งขันที่เป็นธรรม นายทุนเป็นผู้ผูกขาด ส่งผลให้การพัฒนางานวิจัยในภาพรวมน้อยลงไปด้วย



นั่นคือการวิพากษ์ปัญหาการวิจัยในประเทศไทยแบบกว้างๆ แต่หากพูดกันตามตรง ปัญหาของวิจัยไม่โตนวัตกรรมไม่เกิด ในประเทศไทยนั้น รัฐบาลก็ไม่ใช่จำเลยเพียงคนเดียวที่ต้องรับผิดในเรื่องนี้  เพราะแม้เป้าหมายหรือความชัดเจนด้านการวิจัยและพัฒนาของภาครัฐจะมีส่วนสำคัญและดำเนินการไม่ค่อยสำเร็จเท่าไหร่นัก แต่ก็ยังมีการส่งเสริมการยกเว้นภาษีส่วนที่จ่ายไปเพื่อทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมสูงถึง 300% พร้อมกำหนดระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์เป็นเวลา 5 ปี รวมไปถึง กองทุน TED Fund เพื่อเป็นทุนในการให้ผู้ประกอบการนำไปพัฒนาเทคโนโลยีรวมไปถึงการวิจัยเพื่อสร้างนวัตกรรม แต่ทำไมงานวิจัยยังไม่โตอีก

อาจจริงอย่างที่ Thaipublica กล่าวมาข้างต้น แต่ส่วนหนึ่งที่ต้องยอมรับคือ ทัศนคติของประชาชนที่มองการวิจัยเป็น ส่วนเสริมไม่ใช่ ส่วนสำคัญ มีอยู่ไม่น้อย และไม่ได้สนใจเรื่องของการวิจัยเท่าไหร่นัก เห็นได้จากการเข้าชม YouTube เว็บที่รวบรวมคลิปวีดีโอไว้มากมาย แต่คลิปที่บอกถึงของความเคลื่อนไหวและสะท้อนการเติบโตด้านนวัตกรรมอย่าง อัตราการเติบโตในการลงทุนด้านวิจัย (R&D) ของประเทศ ที่ สวทน.โพสต์ไว้ใน Youtube มีจำนวนเข้าชมคลิปทั้งหมดเพียง 157 ครั้งเท่านั้น ถึงเวลาหรือยังที่ที่ ผู้ประกอบการทั้งหลายจะหันมามองตนเองเสียที หลังจากได้โทษรัฐเสร็จแล้ว


อย่างไรก็ตาม เราไม่ได้โทษว่านวัตกรรมในประเทศไม่ดีมาจากประชาชนหรือรัฐบาล แต่อยากให้ทุกคนได้ตระหนักและคำนึงถึงงานวิจัยและการพัฒนาตนเองด้านเทคโนโลยีให้มากขึ้น การบริหารเศรษฐกิจไม่ดีของรัฐ อาจเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การขยับขยายงานวิจัยเป็นไปอย่างลำบาก แต่หากเศรษฐกิจไม่ดีและเรายังนิ่งเฉยสุดท้ายธุรกิจที่แย่ก็จะตายลงในที่สุด ลองพยายามค้นหาผู้ประกอบการที่สามารถคว้านวัตกรรมมาได้ ใช้เขาเป็นต้นแบบเรียนรู้แนวคิดการพัฒนาธุรกิจ เพราะไม่ว่าจะขาดแรงกระตุ้นในการแข่งขันทางธุรกิจหรือไม่ก็ตาม แต่กลุ่มธุรกิจเหล่านี้ก็พัฒนาและผลักดันตนเองจนคว้านวัตกรรมมาไว้ในมือได้ โดยบางครั้งบริษัทเหล่านั้นก็เป็นเพียง SMEs เท่านั้น


คลิป อัตราการเติบโตในการลงทุนด้านวิจัย (R&D) ของประเทศที่คนดูน้อยจนน่าใจหาย :  https://www.youtube.com/watch?v=QDpZFxQntBw  
              หากใครจะบอกว่าความสำเร็จของพวกเขามาจากเครือข่ายเยอะหรือสายป่านยาว ก็อาจใช่ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ตัวชี้ขาดที่ทำให้ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ก้าวไปสู่จุดนั้นได้ มันคือวิสัยทัศน์และกระบวนการคิดในการพัฒนาธุรกิจอย่างมีคุณภาพต่างหาก ซึ่งหากมีการปลูกฝังแนวคิดเชิงพัฒนาให้กับประชาชน เพื่อหันมาให้ความสนใจกับงานวิจัยมากขึ้น ประกอบกับรัฐบาลเองก็ปรับกฎระเบียบการแข่งขันให้ยุติธรรม ให้ทุกระดับแข่งขันกันได้อย่างเท่าเทียม พร้อมกับส่งเสริมต้นทุนการวิจัยเชิงคุณภาพให้มากขึ้น (อย่าลืม เศรษฐกิจต้องดีขึ้นด้วย) ด้วยปัจจัยเหล่านี้ก็จะเปิดมุมมองการพัฒนาธุรกิจในเชิงเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้กับผู้ประกอบการได้มากขึ้น และการทำให้ไทยมีค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยที่มากกว่า 1% ก็เป็นจริงได้ไม่ยากเลย 
คอลัมน์ ลับเฉพาะ : ค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยไทย 0% เป็นชาติ เพราะเหตุใด คอลัมน์ ลับเฉพาะ : ค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยไทย 0% เป็นชาติ เพราะเหตุใด Reviewed by tonygooog on 02:08:00 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

Ad Home

รูปภาพธีมโดย fpm. ขับเคลื่อนโดย Blogger.