Add Me ON

About

คอลัมน์ Golden Ranks : ขบวนการ 8 สี ผู้ส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมไทย

เรียบเรียง:  สกลวรรธน์ ธัญคุณากูลรัชต์


                แม้บทความก่อนหน้านี้จะพูดถึงการเติบโตด้านการวิจัยของประเทศไทยที่น่าเป็นห่วง แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจหรือเกมการเมืองอย่างไรก็ตามแต่ ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าทางรัฐบาลก็ได้มีความตี่นตัวในเรื่องของการวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาอย่างต่อเนื่อง และจากอดีตจนถึงปัจจุบันก็ได้มีหน่วยงานมากมายที่ทางภาครัฐมุ่งมั่นที่จะพยายามอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจโลกด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม วันนี้ทาง Bansorn จึงขอรวบรวม 8 องค์กรที่ส่วนสำคัญยิ่งต่อการส่งเสริมและสนับสนุนงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม

1.สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.)
ตั้งเมื่อ : 26 สิงหาคม 2546
อยู่ภายใต้การดูแล : กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ภารกิจ : ยกระดับศักยภาพทางนวัตกรรมในระดับพื้นที่
ติดตามได้ที่ : http://www.nia.or.th/  

              สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เป็นหน่วยงานที่พัฒนาด้านนวัตกรรมในระดับพื้นที่ โดยสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเกิดนวัตกรรม โดยคนในพื้นที่และชุมชนมีส่วนร่วม ซึ่งแผนพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมมีด้วยกัน 3 ระดับ คือ ระดับภูมิภาค ระดับเมือง และระดับย่าน ได้แก่ ระเบียงนวัตกรรม (Innovation Corridor) เมืองนวัตกรรม (Innovation City) และย่านนวัตกรรม (Innovation District) ซึ่งจะมีการพัฒนาใน 3 ส่วน ได้แก่ การส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการรังสรรค์ระบบนิเวศนวัตกรรม การบริหารทรัพยากรเพื่อให้เกิดพื้นที่นวัตกรรม และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน
ปัจจุบันผลงานปี 2560 ได้ส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการทกลุ่มสตาร์ทอัพผ่านโครงการสตาร์ทอัพไทยแลนด์ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและโอทอป ด้วยคูปองนวัตกรรม และบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ รวมทั้งสิ้น 1,500 ราย เป็นโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับนวัตกรรม 353 โครงการ เป็นเงินสนับสนุน 396 ล้านบาท เกิดเป็นเม็ดเงินทางเศรษฐกิจของประเทศกว่า 1,500 ล้านบาท
2.สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
ตั้งเมื่อ : 28 ตุลาคม 2502
อยู่ภายใต้การดูแล : หน่วยงานอิสระ
ภารกิจ : เป็นองค์กรกลางเชื่อมกับการวิจัยของประเทศ
ติดตามได้ที่ : http://www.nrct.go.th/


                ถือเป็นองค์กรที่ส่งเสริมด้านการวิจัยที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย เพราะสภาวิจัยแห่งชาติหรือสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติมีแผนจะสร้างออกมาตั้งแต่ปี 2477 แต่เนื่องจากไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในตอนนั้น ต่อมาในปี 2499 ทางรัฐบาลก็เริ่มเห็นความสำคัญของการวิจัยและได้แต่งตั้งอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ในขณะนั้นเป็นเลขาธิการสภาวิจัยแห่งชาติ พร้อมกำหนดสาขาวิชาการที่จะวิจัยไว้เฉพาะด้านวิทยาศาสตร์โดยแบ่งออกเป็น 6 สาขา ได้แก่ สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์การแพทย์ เคมีและเภสัชวิทยาศาสตร์ชีวภาพเกษตรศาสตร์และวนศาสตร์ และสาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรม โดยเป็นหน่วยงานหลักในการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัยของชาติ เพื่อใช้ในการกำหนดทิศทางการวิจัยของประเทศ
                ผลงานล่าสุดของ วช. นั้นคือการร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยส่งผลงานวิจัยสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมเข้าร่วมประกวดที่เป็นฝีมือคนไทยกว่า 19 ผลงาน 7 หน่วยงาน 11th International Warsaw Invention Show "(IWIS 2017) ระหว่างวันที่ 9 - 11 ตุลาคม 2560 ณ กรุงวอร์ซอ สาธารณรัฐโปแลนด์ ซึ่งมีผลงานที่ได้รับรางวัล Platinum ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดของงานจากผลงานเรื่อง "อุปกรณ์ซ่อมสายไฟฟ้าแรงสูง โดยวิธีไม่ดับกระแสไฟฟ้า" ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 

3.สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.)
ตั้งเมื่อ : 15 มีนาคม 2546
อยู่ภายใต้การดูแล : หน่วยงานอิสระ
ภารกิจ : เป็นหน่วยงานหลักในการบริหารการวิจัยการเกษตร เพื่อสร้างความเข้มแข็งของภาคการเกษตรอย่างยั่งยืน
ติดตามได้ที่ : http://www.arda.or.th/


                   เป็นหน่วยงานที่ตั้งมาในช่วงปี 2540 หรือวิกฤตเศรษฐกิจ ต้มยํากุ้ง ทำให้รัฐบาลในตอนนั้นขาดงบประมาณในการจะดำเนินการโครงการต่างๆ หรือรัฐถังแตกนั้นเอง ดังนั้นในปี 2542 รัฐบาลจึงได้จัดหาเงินกู้จากต่างประเทศมาดำเนินการต่อคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบที่จะ ปฏิบัติตาม เงื่อนไขผูกพัน (Policy Matrix) โครงการเงินกู้ โดยมีเป้าหมายในการปรับโครงกสร้างทางการเกษตรและเพิ่มขีดความสามรถด้านการส่งออก และ 4 ปีต่อมาจึงได้จัดตั้งสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) เพื่อดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนด้านการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรตามพระราชกฤษฏีกา
                โดยผลงานที่โดดเด่นของ สกว. มักจะเป็นผลงานที่เกี่ยวข้องกับสาขาเกษตรและผู้บริโภค รวมไปถึงผู้ประกอบการที่มีการวิจัยออกมาอย่างต่อเนื่อง นำเชื้อราไตรโคเดอร์มามาใช้ในการทำเกษตรแบบอินทรีย์ เครื่องสำอางจากสารสกัดมะขามป้อม เครื่องวัดความเผ็ด เป็นต้น

4.สภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวนช.)
ตั้งเมื่อ : 6 ตุลาคม 2559
อยู่ภายใต้การดูแล : สำนักนายกรัฐมนตรี
ภารกิจ : กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศทั้งในระยะสั้น กลาง ยาว ลดความซ้ำซ้อนในการดำเนินนโยบายด้านการวิจัย
ติดตามได้ที่ : http://www.nric.or.th/

                สภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติถือเป็นหน่วยงานที่ค่อนข้างใหม่สำหรับองค์กรที่สนับสนุนด้านการวิจัยและเทคโนโลยีของประเทศไทย โดยสาเหตุที่ต้องก่อตั้งหน่วยงานนี้ขึ้นมาเนื่องจากต้องการลดความซับซ้อน ในการดำเนินนโยบายการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศในเชิงบูรณาการ ให้ตรงตามความต้องการและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และสามารถผลักดันให้มีการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม ตามคำสั่ง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 62/ 2559 ประกาศใช้อำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ในการปฏิรูประบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ
 สำหรับด้านผลงานนั้นอาจจะต้องให้เวลาอีกซักหน่อย เนื่องจากภารกิจสำคัญของ สวนช. คือการกำหนดนโยบายด้านวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ประกอบกับเพิ่งได้รับอนุมัติจัดตั้งสภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ จากการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 24 ตุลาคม 2560 ที่ผ่านมานี้เอง
               

5.สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
ตั้งเมื่อ : - 2534
อยู่ภายใต้การดูแล : กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ภารกิจ : ผลักดันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้ภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรมสามารถดำเนินงานได้ดี มีประสิทธิภาพสูงขึ้นสู่เศรษฐกิจโลก
ติดตามได้ที่ : https://www.nstda.or.th/th/

สวทช. คือหน่วยงานที่ผลักดันประเทศไทยแข็งแกร่งและเจริญรุ่งเรืองบนเวทีเศรษฐกิจโลก โดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยให้ภาคการ เกษตรและภาคอุตสาหกรรมสามารถดำเนินงานได้ดี มีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยดำเนินงานผ่านการทำงานร่วมกันของศูนย์ทั้ง 5 ศูนย์ ได้แก่

     • ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC)
       มุ่งพัฒนางานด้านเทคโนโลยีชีวภาพ

     • ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC)
       มุ่งพัฒนางานด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับวัสดุต่างๆ

     • ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC)
       มุ่งพัฒนางานด้านอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์

     • ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (NANOTEC)
       มุ่งพัฒนางานด้านนาโนเทคโนโลยี

     • ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC)
       มุ่งให้ความช่วยเหลือนักวิจัยและบริษัทต่างๆ ในการนำผลงานการ ค้นพบและเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ 
โดยผลงานล่าสุดของ สวทช. คือการสนับสนุนจากโครงการวิจัย พัฒนาและวิศวกรรม ฝ่ายบริหารคลัสเตอร์และโปรแกรมวิจัยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช) จนเกิดเป็น AI Drone หรือ นวัตกรรมเทคโนโลยีการสำรวจจากระบบหุ่นยนต์สำรวจทางอากาศขนาดเล็ก (small Unmanned Aerial System : sUAS)หรือโดรน (Aerial Drone) ซึ่งทางมหาวิทยาลัยบรูพาได้นำไปตรวจสอบประชากรพะยูน โดยเห็นภาพชัดเจนและหลายมุมมอง เนื่องจากเป็นการพัฒนาระบบการตรวจจับภาพพะยูนในสถานการณ์จริงแบบอัตโนมัติ และการพัฒนาระบบบันทึกภาพแบบหลายมุมมอง เพื่อสำรวจพะยูนสำหรับบริเวณพื้นที่กว้าง โดยมีกล้องวีดีโอในช่วงคลื่นตามองเห็นแบบหลายมุมมอง และกล้องถ่ายภาพความร้อน ติดตั้งไปกับหุ่นยนต์อากาศยานขนาดเล็ก สามารถบันทึกภาพฝูงพะยูนได้ในระยะใกล้ๆและคมชัดมากขึ้น
6.: สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)
ตั้งเมื่อ : - 2535
อยู่ภายใต้การดูแล : สำนักนายกรัฐมนตรี
ภารกิจ : กำหนดทิศทาง นโยบาย และยุทธศาสตร์การวิจัยด้านสุขภาพของประเทศ
ติดตามได้ที่ : https://www.hsri.or.th/researcher

สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เป็นองค์กรของรัฐที่มิใช่ส่วนราชการจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ซึ่งตั้งพร้อมกับการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยมีโครงสร้างองค์กรและการบริหารที่เน้นความคล่องตัว เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อเป้าหมายในการจัดการความรู้เพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบสุขภาพได้
โดยตอนนี้ สวรส. ได้ยกระดับการสร้างสุขภาพสอดคล้องกับยุค 4.0 ด้วยการพัฒนานวัตกรรม Mobile Application "RDU รู้เรื่องยา" เพื่อสื่อสารข้อมูลยาและการใช้ยาที่ถูกต้อง ปลอดภัย ด้วยข้อมูลเดียว เพื่อลดความสับสน และสร้างความตระหนักในการใช้ยาอย่างสมเหตุผลแก่ประชาชน ซึ่งที่ผ่านมา สวรส.มีโครงการวิจัย และกระบวนการพัฒนาระบบยา เพื่อนำไปสู่การใช้ยาอย่างสมเหตุผลมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้ง สวรส.ยังได้มีการพัฒนาและดูแลบัญชีข้อมูลรายการยาและรหัสยามาตรฐานไทย Thai Medicines Terminology (TMT) ที่ใช้ในฐานข้อมูลของระบบการใช้ยาได้อย่างสมเหตุผล ช่วยให้ระบุรายการยาได้อย่างถูกต้องแม่นยำ เมื่อทำงานร่วมกับข้อมูลความรู้ด้านยา จึงทำให้เกิดฐานข้อมูลที่ใช้ในการพัฒนาเป็นนวัตกรรม Mobile Application "RDU รู้เรื่องยา" ดังกล่าว
               

7. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
ตั้งเมื่อ : - 2535
อยู่ภายใต้การดูแล : สำนักนายกรัฐมนตรี
ภารกิจ : สนับสนุนการสร้างองค์ความรู้ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ โดยใช้การวิจัยเป็นกลไกสร้างฐานความรู้สำหรับการแก้ปัญหาให้แก่สังคม
ติดตามได้ที่ : https://www.trf.or.th/home/about-trf

                สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) หรืออีกชื่อหนึ่ง The Thailand Research Fund (TRF) เป็นองค์กรขนาดเล็กของรัฐ ภายใต้กำกับของสำนักนายกรัฐมนตรีแต่ไม่ได้ใช้ระบบราชการ เพื่อสร้างความคล่องตัวในการทำงาน โดย สกว. ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อรัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบตราพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการวิจัย พ.ศ.2535 เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนการสร้างองค์ความรู้ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ โดยใช้การวิจัยเป็นกลไกสร้างฐานความรู้สำหรับการแก้ปัญหาให้แก่สังคม
                โดยผลงานปัจจุบันทาง สำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย ได้มอบเรือพลังแสงอาทิตย์ KU GREEN ที่เป็นผลผลิตจากงานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก สกว. แก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะผู้บริหารจัดการเรือ เพื่อยกระดับการท่องเที่ยว เพราะ KU GREEN ได้ให้บริการแก่นักท่องเที่ยวในพื้นที่ตลาดน้ำคลองลัดมะยมตั้งแต่เดือน พฤษภาคม 2560 เป็นต้นมา เกิดเป็นต้นแบบการท่องเที่ยวทางน้ำในกรุงเทพที่น่าเอาอย่าง เนื่องจากเป็นการนวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไร้เสียงรบกวน และยังได้ใช้พลังงานบริสุทธิ์อีกด้วย

8.สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.)
ตั้งเมื่อ : 13 กุมภาพันธ์ 2551
อยู่ภายใต้การดูแล : กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ภารกิจ : กำหนดนโยบายและจัดทำแผนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมระดับชาติ ให้มีความต่อเนื่อง และกำหนดกรอบการดำเนินงานของหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชนในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศ
ติดตามได้ที่ : http://www.sti.or.th/about.php?content_type=2

ภายใต้โลกาภิวัตน์ จากความเปลี่ยนแปลงของความเสรีด้านการผลิตต่างๆ อาทิ ทุน บุคลากร สินค้าและบริการ และข้อมูลความรู้แล้วข่าวสาร ทางรัฐบาลจึงได้มีการร่างพรบ.ว่าด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ.2551 เพื่อพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศให้เป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกันทั้งในด้าน การผลิตและการพัฒนากำลังคน การวิจัยและพัฒนา การถ่ายทอดเทคโนโลยี การพัมนาโครงสร้างพื้นฐาน และการสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม และสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นในระดับสากลได้มากขึ้น จนเกิดเป็น สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติในปัจจุบัน

โดยผลงานล่าสุดในตอนนี้ทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติคืการจัดงาน Talent Mobility Fair 2017  โดยเป็นการดึงผู้ประกอบการจากภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม อาจารย์จากสถาบันอุดมศึกษา นักวิจัย และนักวิชาการจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มากกว่า 400 ราย พร้อมขับเคลื่อนโครงการ Talent Mobility เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรม ต่อยอดเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เติบโตอย่างมั่นคงมากขึ้น
คอลัมน์ Golden Ranks : ขบวนการ 8 สี ผู้ส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมไทย คอลัมน์ Golden Ranks : ขบวนการ 8 สี ผู้ส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมไทย Reviewed by tonygooog on 06:06:00 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

Ad Home

รูปภาพธีมโดย fpm. ขับเคลื่อนโดย Blogger.