Add Me ON

About

คอลัมน์ ลับเฉพาะ : "ดราม่า" พฤติกรรมสุดฮิบแห่งสังคมไทย

เรื่อง : สกลวรรธน์ ธัญคุณากูลรัชต์

แบบสอบถาม : ความเห็นต่อดราม่าคนไทยเกิดจากอะไร
 twitter จำนวน 13 ราย
54% ขาดการคิดวิเคราะห์ แยกแยะ
8% ขาดวุฒิภาวะ
23% ทำตามกระแสสังคมขณะนั้น
15% อื่นๆ 

             ดราม่า ดูเหมือนคำนี้จะกลายเป็นวาทกรรมที่อยู่คู่สังคมไทยในสมัยนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีสื่อใหม่ (New Media) ที่มีความรวดเร็วในการสื่อสารแบบนาทีต่อนาทีเป็นเครื่องสำคัญ และจากข้อมูลที่โลดแล่นอยู่บนสื่อใหม่ด้วยรวดเร็วฉับไว มันยังมาพร้อมกับขอเสนอในการโต้ตอบ (Feedback) ที่สามารถทำได้แบบเรียลไทม์ ทำให้พฤติกรรมการรับสารของมนุษย์เปลี่ยนไป รวมไปถึงการวิเคราะห์ตีความข้อมูลที่ถูกกระตุ้นด้วยอารมณ์ความรู้สึกมากกว่าสรุปด้วยปัจจัยแวดล้อมและเหตุผลอันสมควร ทำให้ช่วงเวลาในการทบทวนให้เกิดการตกตะกอนทางความคิดน้อยลงไปตามไปด้วย ส่งผลให้การวิพากษ์วิจารณ์ในเนื้อหานั้นๆ ไร้ซึ่งประสิทธิภาพ

ทว่า หากจะไปโทษสื่อเพียงอย่างเดียวก็ดูกระไรอยู่ เพราะสื่อเป็นเพียงเครื่องมือสำหรับการสื่อสารเท่านั้น แม้แต่สื่อใหม่ก็ถูกออกแบบโดยมีประสงค์เพื่อช่วยให้ผู้ใช้สื่อ ให้สามารถสื่อสารได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้นเท่านั้น ตัวแปรสำคัญจึงอยู่ที่ผู้ส่งสารและผู้รับสาร



จำเลยรายแรกนั้นคือผู้ส่งสาร เนื่องจากเป็นกลุ่มบุคคลกลุ่มแรกๆ ที่ได้เป็นรับสารมา อีกทั้งยังเป็นผู้มีเอกสิทธ์ในการนำเสนอข่าวสาร ทว่า ด้วยรูปแบบการนำเสนอข่าวสารในปัจจุบันที่เน้นความรวดเร็วในการนำเสนอ แต่ในทางกลับกัน ข่าวสารเหล่านั้นกลับไม่มีการคัดกรองอย่างถี่ถ้วน อาจเพราะไม่มีหน่วยงานหรือบุคคลคอยตรวจสอบก่อนเผยแพร่ ประกอบกับทุกคนสามารถเป็นนักข่าวหรือกระทั้งตั้งสำนักข่าวบนสื่อใหม่ได้โดยไม่ต้องขออนุญาตใคร จะเขียน แชร์ รวมถึงพรีเซ็นต์เนื้อหาอะไรก็ได้โดยง่าย ซึ่งผู้สถาปนาตัวเองเป็นผู้ส่งสารหรือนักข่าวไซเบอร์ ก็รายงานข่าวสารเหล่านั้น โดยอาจไม่ได้ใส่ใจหรือให้ความสำคัญกับจรรยาบรรณของสื่อแต่อย่างใด ทำให้ข่าวสารที่มีการเผยแพร่ออกมา มีเนื้อหาความหลากหลายและเสรี อดุมไปด้วยความคิดเห็นที่แตกต่าง ซึ่งหากมองในแง่ดีสื่อใหม่ ถือเป็นเวทีสำหรับแสดงความเห็นทางความคิดขนาดใหญ่ ที่ทำให้เกิดการสร้างสรรค์การแลกเปลี่ยนความเห็น นำไปสู่การพัฒนาอย่างสร้างสรรค์อย่างไร้ขอบเขต แต่ด้วยการนำเสนอข่าวที่เหมือนกับน้ำดิบที่ไม่ผ่านเครื่องกรองน้ำ จึงทำให้ข่าวสารในสื่อใหม่ขาดความน่าเชื่อถือ และอาจสร้างผลเสียกับผู้รับสารได้

สำหรับจำเลยที่สองที่ถือเป็นบุคคลสำคัญในการสร้างปรากฏการณ์ดราม่าขึ้นมานั้นคือผู้รับสาร สืบเนื่องจากสื่อยุคใหม่มีการสื่อสารที่ไร้พรมแดน ทำให้ไม่ว่าใครก็สามารถรับข่าวสารต่างๆ จากทุกทิศทางได้ โดยที่ผู้รับสารเหล่านี้อาจต้องการหรือไม่ต้องการสารเหล่านั้น สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นประสิทธิภาพในการตีแพร่ข้อมูลข่าวสารในปัจจุบันเหนือชั้นกว่าสื่อเก่าเป็นอย่างมาก แต่ในอีกด้านหนึ่งก็อาจสร้างผลกระทบบางอย่างทางความคิดให้กับผู้รับสารบางกลุ่ม โดยเฉพาะวัยรุ่นหรือเด็ก ที่ไม่อาจเข้าใจเนื้อหาที่มีปมความขัดแย้งซับซ้อนหรือปลุกเร้าอารมณ์อย่างรุนแรงซึ่งต้องใช้หลักเหตุผลในการพิจารณา 

จากที่ Bansorn ได้ให้สังคม twitter ทำแบบสอบถึงต้นตอพฤติกรรมการดราม่าของไทย โดยจากจำนวน 13 ราย ซึ่งส่วนใหญ่บ่งชี้ว่า จากกระแสถกเถียงได้แบบสากกระเบือยันเรือรบส่วนใหญ่มาจากการขาดการคิด วิเคราะห์ แยกแยะ ถึง 54% เพราะโดยคนส่วนใหญ่เมื่อรับสารโดยเฉพาะข่าวสารด้านลบ จะทำให้เกิดพฤติกรรมที่ก้าวร้าวและแสดงความเห็นอย่างรุนแรงเสมออย่างเฉียบพลัน ทั้งที่ในบางครั้งข่าวสารที่กำลังถูกประณามยังไม่มีมูลเหตุที่ชัดเจนเท่าที่ควร ผนวกกับผู้ส่งสารที่มองเห็นแต่การแข่งขันที่ดุเดือดของสนามข่าว จึงมุ่งแต่ส่งข่าวสารโดยไม่ขาดการไตร่ตรองความเหมาะสมหรือจรรยาบรรณจากการนำเสนอนั้น ข่าวแย่ๆ กับการนำเสนอแย่ๆ ยิ่งสร้างแรงกระตุ้นทางอารมณ์ผู้รับสารที่อาจขาดวุฒิภาวะมากเข้าไปอีก


   นางไพรินทร์  เหมบุตร หัวหน้ากลุ่มงานส่งเสริมพัฒนาหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ สพม 41 เคยให้ความเห็นเกี่ยวกับหลักการคิดวิเคราะห์เอาไว้ว่า การคิดวิเคราะห์มีอยู่สี่องค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ 1.ความเข้าใจและให้เหตุผลแก่สิ่งที่ต้องการวิเคราะห์ 2.การตีความทำความเข้าใจ ซึ่งขึ้นอยู่กับความรู้และประสบการณ์ รวมไปถึงค่านิยมส่วนตัว 3.การช่างสังเกตโดยยึดหลัก 5 W 1 H และ 4.การสร้างความสัมพันธ์เชิงเหตุผลหรือ การตั้งคำถามค้นหาคำตอบ หาสาเหตุ หาการเชื่อมโยง ส่งผลกระทบ วิธีการ ขั้นตอน แนวทางแก้ปัญหา คาดการณ์ข้างหน้าในอนาคต ซึ่งแนวคิดของไพรินทร์สอดรับกับแนวคิด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ยึดหลักด้านสี่องค์ประกอบในการคิดวิเคราะห์ เพราะถือเป็นการคิดวิเคราะห์ที่ใช้ปัญญาอย่างเต็มที่ หรือใช้ความคิดนำพฤติกรรม มิใช่อารมณ์ จะถือว่าเป็นผู้มีเหตุผล ไม่มีอคติ มีความยุติธรรม โดยจะตระหนักถึงการให้เหตุผลอย่างถูกต้องกับเทคนิคการตั้งคำถามเพื่อใช้ในการคิดวิเคราะห์อยู่เสมอ

เมื่อหันมามองสังคมปัจจุบันจะสะท้อนให้เห็นได้ว่า สังคมไม่ได้มีการใช้สี่องค์ประกอบในการคิดวิเคราะห์เท่าที่ควร นี้ยังไม่รวมถึงการจัดระบบทางความคิดในการแยกแยะประเด็นต่างๆ ในเรื่องนั้นๆ อย่างรอบคอบ เกิดเป็นประกฎการณ์ เหมารวม แบบไม่สนไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรม เห็นได้จากเรื่องร้อนที่เพิ่งผ่านไปไม่นานนี้อย่าง น๊อต กราบรถหรือ นาย อัครณัฐ อริยฤทธิ์วิกุล นักแสดงที่ได้มีการทำร้ายผู้อื่นอย่างรุนแรงและบังคับให้ผู้นั้นมากราบรถของตน เพียงเพราะขับชนรถของตนเพียงเล็กน้อย โดยผลจากการกระทำนั้น สังคมออนไลน์ไม่เพียงสาปแช่ง อัครณัฐ อย่างต่อเนื่องแล้ว แต่ยังลุกลามไปถึงผู้ประกอบกิจการร่วมที่ได้มีการร่วมหุ้นส่วนกับอัครณัฐ พ่อแม่พี่น้องของเขา แม้แต่ดาราเพื่อนร่วมวงการที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องราวก็โดนสั่งให้ลบรูปที่ถ่ายคู่กับอัครณัฐอีกด้วย สิ่งเหล่านี้เป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงจุดบกพร่องในการคิดวิเคราะห์แยกแยะที่ต้องเร่งส่งเสริมอย่างเร่งด่วน มิเช่นนั้นคำวิพากษ์วิจารณ์ที่ไร้ขอบเขตและไม่สนใจถึงความรู้สึกของผู้ถูกกระทำหรือแม้แต่มูลเหตุของความจริง ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจสร้างผลลัพธ์อันเลวร้ายแก่ผู้ถูกกระทำเกินสมควรก็เป็นได้



ไวรัล #BETTERSOCIAL ผลงานจากทีมโซเซียล AP Thai คือหนึ่งไวรัลที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในช่วงขณะนั้น โดยเนื้อหาในวีดีโอมุ่งตีแผ่ชีวิตชายผู้หนึ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการแชร์และวิจารย์ในโลกโซลเซียลที่ขาดการไตร่ตรอง โดยทุกอย่างเริ่มจากการกล่าวหาหนุ่มวิศวะคนหนึ่งที่ดูเหมือนมีพฤติกรรมแอบติดกล้องไว้ตรงรองเท้าโดยเจาะรู้ไว้สำหรับใส่กล้องตรงรองเท้า เพื่อส่องดูกระโปรงผู้หญิง ทั้งที่ความเป็นจริง เป็นเพียงรูขาดจากรองเท้าเก่าๆ ของเขาเท่านั้น แม้ความจริงกับเรื่องเล่าจะย้อนแย้งกันและก่อนที่ผู้ถูกประณามจะได้อธิบายเหตุผลของตนเอง 
คำกล่าวที่ไร้ซึ่งข้อเท็จจริงก็ถูกเผยแพร่ในโลกโซเซียลอย่างรวดเร็ว และทำให้เขาถูกสังคมประณามอย่างรุนแรง จนทำให้เขารู้สึกโดนคุกคามและตัดขาดจากสังคมในที่สุด จนเมื่อความจริงปรากฎก็สายเกินไปเสียแล้ว หนุ่มวิศวะรู้สึกแย่ต่อสังคมไปเสียแล้ว และผู้ได้ทำการโพสต้นเรื่องก็ไม่มีคำขอโทษหรือแสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำตนเองแต่อย่างใด สิ่งที่เกิดขึ้นกับชายผู้นี้ เป็นผลสืบเนื่องจากการบอกเล่าอย่างไร้มูลเหตุและการรับสารที่ขาดวิจารณญาณของผู้ส่งและผู้รับสาร จนเกิดเป็นดราม่าที่ไร้แก่นสารและยังสร้างรอยแผลกับผู้ถูกกระทำอย่างเลวร้ายที่สุด



เมื่อพูดถึงจุด แลดูการดราม่าจะมีแต่ข้อเสียเพียงอย่างเดียว แต่ในความเป็นจริงการดราม่าก็มีประโยชน์ที่ซ่อนเร้นอยู่เช่นกัน จากการเก็บผลสำรวจของ  Bansorn มีจำนวนถึง 15% ที่มองว่าการดราม่าไม่ใช่เรื่องเสียหายเสียทีเดียว เพราะการดราม่า ในบางครั้งก็อาจหมายถึงภาวการณ์ที่เหมือนการโต้วาทีในประเด็นใดประเด็นหนึ่ง โดยไม่ใช่เพื่อหาผู้แพ้ชนะ แต่เป็นการค้นหาข้อเท็จและเสนอความเห็นที่ผ่านการสังเคราะห์ทางความคิดอย่างมีระบบและแตกต่างในพื้นที่สาธารณะ โดยยึดหลักปัญญาชนและเหตุผลเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก เมื่อยึดหลักปัญหาและเหตุผล แน่นอนว่าการโต้เถียงในครั้งนี้จะไม่ใช่การพูดลอยๆ หรือ หรือนั่งถกเถียงเรื่องขี้หมูราขี้หมาแห้ง แต่ต้องเป็นเรื่องราวที่ประเมินแล้วว่า เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เป็นเรื่องสร้างสรรค์ รวมถึงผู้โต้วาทีจะต้องค้นหาหลักฐานหรือพยานที่มีความน่าเชื่อถือและต้องทำความเข้าใจอย่างแตกฉานต่อเรื่องที่ต้องการถกเถียงเป็นอย่างดี เมื่อทั้งสองใช้ปัญญาเป็นฐานในการค้นหาข้อเท็จจริง สิ่งนั้นถึงจะเรียกได้ว่าเป็นการดราม่าที่สร้างมูลค่าและสามารถต่อยอดทางความคิดให้ผู้รับสาร มิใช่การดราม่าหาผลแพ้ชนะเพียงอย่างเดียว



หัวใจสำคัญของบทความนี้ ไม่ใช่การบอกว่าใครถูกหรือผิด แต่คือการค้นหาว่าเราจะทำอย่างไรให้การดราม่าเกิดประโยชน์ มิใช่เพียงเป็นการถกเถียงเพื่อความสะใจหรือต้องการเอาชนะเพียงอย่างเดียว แต่การใช้สติและปัญญาอย่างหนักหน่วงก่อนที่จะมีการโพสการแชร์อะไรออกไปเป็นสิ่งสำคัญ คุณเคยได้ยินแคมเปญรณรงค์ คิดก่อนเชื่อ เช็คก่อนแชร์” หรือไม่ กล่าวคือ ผู้รับสารควรที่จะมี สติ โดยใช้วิจารณญาณในการพิจารณาหาข้อเท็จจริงก่อนที่จะแชร์หรือโพสอะไรออกไป ด้านผู้ส่งสารเองก็ควรที่จะต้องมีความรอบคอบและคำนึงถึงผลกระทบต่อผู้อื่นอยู่เสมอ เพราะเมื่อทุกอย่างเกิดขึ้น ผลลัพธ์บางอย่างก็ยากที่จะแก้ไขได้ หากทุกคนใช้สื่อใหม่อย่างมีสติและใช้ปัญญาก่อนที่อารมณ์ตัดสินก่อนคลิก เชื่อได้ว่าสังคมออนไลน์จะน่าอยู่กว่านี้เป็นไหนๆ

อ้างอิงจาก 

http://www.brandbuffet.in.th/2016/08/ap-thailand-better-social-viral/

http://tishafan-analysisthinking.blogspot.com/p/blog-page_18.html

http://poppytaeyeon.blogspot.com/2012/11/blog-post.html



คอลัมน์ ลับเฉพาะ : "ดราม่า" พฤติกรรมสุดฮิบแห่งสังคมไทย คอลัมน์ ลับเฉพาะ : "ดราม่า" พฤติกรรมสุดฮิบแห่งสังคมไทย Reviewed by tonygooog on 00:20:00 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

Ad Home

รูปภาพธีมโดย fpm. ขับเคลื่อนโดย Blogger.