Add Me ON

About

คอลัมน์ ลับเฉพาะ : ข้าวไทย ไซเบอร์

เรื่อง : สกลวรรธน์ ธัญคุณากูลรัชต์


         หากพูดถึงกลไกทางเศรษฐกิจที่สำคัญๆ ของประเทศไทย เชื่อว่าร้อยละ 90 ต้องคิดหรือพูดถึง พืชเศรษฐกิจที่สร้างมูลค่าให้กับประเทศไทยเป็นอย่างมากนั้นคือ ข้าว เพราะนอกจากจะมีผลผลิตที่มีคุณภาพสูงติดอันดับต้นๆ ของโลกแล้ว ประเทศไทยยังสามารถผลิตข้าวได้ปริมาณที่มาก ซึ่งเพียงพอต่อการแข่งขันในระดับต่างประเทศ ด้วยองค์ประกอบการหลายๆ อย่าง ทำให้ประเทศไทยได้ยกระดับข้าวเป็นสินค้าส่งออกเบอร์ 1 และผลตอบรับจากผู้นำเข้าที่ล้นหลาม ก็ยิ่งตอกย้ำให้ประเทศไทยมั่นใจในพืชเศรษฐกิจนี้มากยิ่งขึ้น 



ในปี 2557 ประเทศไทยได้ทำการส่งออกข้าวได้สูงสุดถึง 10.8 ล้านตัน มูลค่ากว่า 5,372 ล้านเหรียญสหรัฐ  หรือแปลงเป็นเงินสกุลไทยได้ 189,674 ล้านบาท ซึ่งนับว่าสูงเป็นปรากฏการณ์ อีกทั้งหลายคนคาดการณ์ว่าความสำเร็จนี้จะทำให้ประเทศไทยครองตำแหน่งผู้นำไปได้อีกนานหลายปี แต่นั้นก็เป็นเพียงฝัน เพราะปีต่อมา ผลกการส่งออกลดเหลือ 9.79 ล้านตัน จากที่เคยคาดหวังว่าจะได้อย่างน้อย 10-11 ล้านตัน เมื่อนำมาเทียบกับปี 2557 ปริมาณการส่งออกลดลง 15.2% ส่งผลให้บัลลังก์แชมป์ส่งออกข้าวได้มากที่สุดตกเป็นของอินเดียในปีนั้น

แค่นั้นไม่พอ เนื่องจากคู่แข่งด้านการค้าข้าวเริ่มเห็นจุดอ่อนและได้พยายามยกระดับสินค้าข้าวของตนเอง เพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการในระดับโลกได้ดีขึ้น เห็นได้จากประเทศเวียดนาม ในการออกนโยบายมากมายในการกระตุ้นการค้าโลกให้มีสภาพคล่องมากขึ้น ทั้ง นโยบายส่งออก นโยบายความร่วมมือด้านการค้าข้าวระหว่างประเทศ และอีกหลายนโยบายที่โดดเด่น โดยหนึ่งในนโยบายเวียดนามที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง คือ นโยบายการพัฒนาการเกษตรชนบทเวียดนาม ซึ่งเป็นการพัฒนาการเกษตรในระดับชนบท โดยเริ่มตั้งแต่พัฒนากรรมวิธีใหม่ๆ ในการผลิตข้าวให้ทันสมัย อีกทั้งยังเสริมยุทศาสตร์การค้าข้าวให้เข้มแข็งด้วยการเร่งพัฒนาพันธุ์ข้าวต่างๆ ภายใต้ชื่อ "Vietnamese Premium Rice จนเกิดเป็นพันธุ์ข้าวคุณภาพเยี่ยม แถมมีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการในตลาดโลก ส่งผลให้ในช่วงปี 2556 ประเทศเวียดนามส่งออกข้าวได้มากกว่าประเทศไทย ซ้ำยังได้ครองแชมป์ตลาดข้าวในอาเซียนแทนที่ประเทศไทยอีกด้วย



สิ่งนี้สร้างแรงกระตุ้นให้หน่วยงานรัฐในประเทศไทยเริ่มจัดแผนโต้กลับ ในการช่วงชิงบัลลังก์ผู้ส่งออกคืนมา โดยภาครัฐเริ่มเน้นหนักในการเพิ่มมูลค่าให้กับข้าวแบบในระยะยาวและถาวร เชื่อว่าใครหลายคนคงรู้ได้ยินยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวโยงกับเทคโนโลยี อย่างประเทศไทย 4.0 ที่รัฐบาลกำลังผลักดันอย่างหนักในตอนนี้เป็นแน่ ใช่แล้วครับสิ่งที่ภาครัฐต้องการพัฒนา คือการนำข้าวและนวัตกรรมมาผสมผสานเพื่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงกว่าเดิม แต่ทุกคนต่างรู้ดีว่า เทคโนโลยีกว่าครึ่ง ถูกนำเข้ามาจากต่างประเทศเสียส่วนใหญ่ ขณะที่ผู้ประกอบการการส่งออกหรือโรงสีส่วนใหญ่ยังขาดความรู้และความเข้าใจด้านการแปรรูปข้าว คงไม่ต้องพูดถึงการให้เกษตรกรทำนาโดยมีนวัตกรรมแกนหลัก

ชุติมา บุณยประภัศร อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์ เธอคือหนึ่งคนที่มีมุมมองในการค้าข้าวอย่างมีวิสัยทัศน์และสร้างสรรค์ เธอเชื่อว่าการค้าข้าวในอนาคตนอกจากการขายในระดับปฐมภูมิแล้ว จะต้องเร่งเสริมพัฒนาการค้าในระดับทุติยภูมิควบคู่ไปด้วย กล่าวคือ ควรมีการแปรรูปพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าว เพื่อดึงประสิทธิภาพข้าวมาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ให้ถึงขีดสุด อาทิ สกัดน้ำมันรำข้าวไว้สำหรับปรุงอาหารหรือผลิตเป็นยารักษา รวมถึงผลิตโปรตีนข้าวซึ่งสรรพคุณเหมาะแก่การเป็นอาหารเสริม ยา หรืออาหารสำหรับทารก แนวคิดนี้เป็นจุดเริ่มต้นให้เธอก่อตั้ง สถาบันพาณิชย์ข้าว ขึ้นมา

แน่นอนว่า การจะสร้างสถาบันการพาณิชย์ข้าว เป็นการเปิดโอกาสให้กับวงการข้าวเป็นอย่างมาก แต่ถึงจะฟังดูดีซักเพียงใด แต่การที่จะให้ชาวเกษตรกรทำการเกษตร โดยนำหลักอุตสาหกรรมหรือมีนวัตกรรมมาเป็นส่วนส่งเสริม ถือเป็นการก้าวกระโดดที่ต้องมีการเตรียมตัวเป็นอย่างดีและต้องมีมาตรการรองรับเพื่อให้เป้าหมายดังกล่าวเข้าถึงเกษตรกร เนื่องจากเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาในประเทศไทยยังไม่ได้รับความนิยมภายในประเทศเท่าใดนัก ส่งผลให้ผลงานวิจัยพัฒนาขาดการต่อยอดเพื่อนำมาใช้กับชาวนาจริง ขณะเดียวกันเกษตรกรส่วนใหญ่ มักเน้นการผลิตเพื่อขายในรูปแบบสไตล์เก่า เช่น ผลิตและขายให้พ่อค้าคนกลาง เพื่อให้นำไปให้โรงสี ก่อนที่จะถึงผู้ส่งออกไปขายอีกทอดหนึ่ง ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้ มีหลายฝ่ายมาเกี่ยวข้อง และทุกฝ่ายย่อมหาผลพลอยได้จากสิ่งนี้อย่างเต็มที่ ส่งผลให้เกษตรกรกลับมีรายได้จากการขายน้อยกว่าที่ควรจะเป็น สิ่งนี้เป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงระบบการค้าที่ล้าหลัง และต้องมีการปรับเปลี่ยนอย่างเร่งด่วน

นั้นจึงเป็นที่มา ของการสร้างเกษตรกรปราดเปรื่อง “Smart Farmer” ที่รัฐบาลชุดนี้พยายามดันอย่างเต็มที่ โดยเกษตรกรปราดเปรื่องมีกลยุทธ์สำคัญในการดึงคนรุ่นใหม่ ที่เริ่มห่างเหินจากการทำการเกษตรให้เห็นความสำคัญและกลับมาทำการเกษตรกันมากขึ้น และคาดหวังว่าคนกลุ่มนี้จะนำเทคโนโลยีและแนวคิดร่วมสมัยมาพัฒนาบูรณาการการให้เกิดการทำนาแบบใหม่อีกด้วย โดยการทำเกษตรรุ่นใหม่จะไม่เพียงเน้นให้ทำการเกษตรเพียงอย่างเดียว แต่จะเป็นการดึงกลยุทธ์ทางธุรกิจซึ่งเป็นทักษะที่คนยุคใหม่ช่ำชองและให้ความสนใจเป็นอย่างมากเข้ามาเชื่อมโยงกัน ซึ่งรวมไปถึงการทำการตลาดใหม่ๆ อาทิ การออกแบบสินค้า การทำการค้าออนไลน์ “e-commerce” การสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้จะยกระดับให้วงการข้าวของไทยไปอีกขั้นหนึ่ง ด้านกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก็เริ่มดึงเทคโนโลยีที่มีการวิจัยและพัฒนาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ มาลองปรับปรุงและใช้จริงในเชิงการเกษตร ทำให้ประเทศไทยเริ่มมีบุคคลากรและเทคโนโลยีในการสนับสนุนเกษตรไทยให้ไปได้ไกลยิ่งขึ้น



นี้คือสภาพการณ์ความเคลื่อนไหวที่เด่นๆ ด้านการพัฒนาข้าวของรัฐบาลในปี 2559 ซึ่งหากทำให้เกิดเป็นรูปธรรมขึ้นได้ (โดยไม่ล้มเลิกเสียก่อน) จะเกิดการเปลี่ยนแปลงต่อเกษตรกรในอนาคตเป็นอย่างยิ่ง เพราะนี้ไม่ใช่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างการปรับสมดุลราคาข้าวหรือการจำนำข้าว อย่างที่รัฐบาลหลายชุดเคยทำมา แต่เป็นการปลูกฝังวิถีความคิดใหม่ๆ ในการทำธุรกิจข้าวที่สอดรับกับตลาดโลก พร้อมๆ กับดึงคนรุ่นใหม่ที่มีแนวคิดที่สดใหม่ และมีหัวด้านการตลาดอย่างชัดเจน เมื่อนำมาผสานเข้ากับศาสตร์การเกษตร ย่อมทำให้ผลิตภัณฑ์ข้าวมีการแปรสภาพไปสู่สินค้าพันธุ์ใหม่ ยิ่งทำให้ตลาดในวงการข้าวมีโอกาสขยายสู่ตลาดๆ ใหม่มากยิ่งขึ้น สิ่งสำคัญอยู่ที่ผู้ริเริ่มแนวคิดอย่างรัฐบาล จะสามารถสร้างสะพานเชื่อมระหว่าง นวัตกรรม กับ เกษตรกร ที่เหมือนอยู่กันคนละโลกให้โคจรมาพบกันได้อย่างไร




คอลัมน์ ลับเฉพาะ : ข้าวไทย ไซเบอร์ คอลัมน์ ลับเฉพาะ : ข้าวไทย ไซเบอร์ Reviewed by tonygooog on 07:12:00 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

Ad Home

รูปภาพธีมโดย fpm. ขับเคลื่อนโดย Blogger.