สวทน. ตั้งเป้า 20 ปีข้างหน้า เพิ่มบุคลากรวิจัยและนวัตกรรมสามมิติ รองรับภาคการผลิตและบริการจนถึงเพิ่มยอดผลิตบัณฑิต
ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) กล่าวถึงสถานการณ์บุคลากรวิจัยและพัฒนาของประเทศไทยว่า ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม สวทน. ล่าสุด พบว่า ประเทศไทยมีจำนวนบุคลากรวิจัยและพัฒนาแบบทำงานเต็มเวลา ทั้งสิ้น 89,617 คน คิดเป็นสัดส่วนจำนวนบุคลากรวิจัยและพัฒนา 13.6 คนต่อประชากร 10,000 คน
(ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์)
โดยเป็นบุคลากรวิจัยและพัฒนาในภาครัฐร้อยละ 45 และภาคเอกชน ร้อยละ 55 ตามลำดับ (ข้อมูลปี พ.ศ.2558) ทั้งนี้ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา สัดส่วนบุคลากรวิจัยและพัฒนาในภาคเอกชนมีแนวโน้มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับบุคลากรวิจัยและพัฒนาภาครัฐ อย่างไรก็ตามสัดส่วนบุคลากรวิจัยและพัฒนาในภาพรวมต่อประชากรยังน้อยเมื่อเทียบกับประเทศที่มีขีดความสามารถด้านนวัตกรรมสูง เช่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ เยอรมัน และญี่ปุ่น แต่หากพิจารณาตัวเลขนักวิจัยเพียงอย่างเดียว จะพบว่าภาครัฐมีสัดส่วนของนักวิจัยระดับปริญญาโทและเอกที่สูงกว่าภาคเอกชน โดยในปี พ.ศ. 2558 นักวิจัยส่วนใหญ่ของภาครัฐ ร้อยละ 61 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท รองลงมาคือปริญญาเอก ร้อยละ 32 และปริญญาตรี ร้อยละ 7% ในขณะที่ภาคเอกชนจะมีสัดส่วนที่กลับกัน โดยมีนักวิจัยระดับปริญญาเอกเพียง 2% ปริญญาโท 10% และปริญญาตรี 88%
ดร.กิติพงค์ กล่าวอีกว่า สวทน. ได้จัดทำแผนกลยุทธ์การพัฒนาบุคลากรวิจัยและนวัตกรรม ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวนช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้กำหนดเป้าหมายของการพัฒนาบุคลากรวิจัยและนวัตกรรมของประเทศไว้ใน 3 มิติ ได้แก่
1. การพัฒนาบุคลากรวิจัยและนวัตกรรมระดับหัวรถจักร ได้ตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มจำนวนบุคลากรวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้นเป็น 60 คน ต่อประชากร 10,000 คน จากเดิม 13.8 คนต่อประชากร 10,000 คน ในปี 2558 และเพิ่มอันดับความสามารถในการดึงดูดนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทย ให้ติดอันดับ 1 ใน 14 จากอันดับที่ 46 ในปี พ.ศ.2559 (จัดอันดับโดย WEF) เป็นต้น
2. การพัฒนาบุคลากรวิจัยและนวัตกรรมเพื่อรองรับภาคการผลิตและบริการ โดยตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มอันดับด้านคุณภาพของนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรที่ตรงความต้องการของสถานประกอบการ ติด 1 ใน 14 จากอันดับที่ 57 ในปี พ.ศ.2559 (จัดอันดับโดย WEF) และเพิ่มสัดส่วนแรงงานทักษะของไทยเป็นร้อยละ 25 จากร้อยละ 13.8 ในปี พ.ศ.2557
3. การสร้างตัวป้อนเข้าสู่อาชีพบุคลากรวิจัยและนวัตกรรมที่ให้โอกาสกับทุกพื้นที่อย่างทั่วถึง โดยเพิ่มสัดส่วนบัณฑิตสายวิทยาศาสตร์ต่อสายสังคมศาสตร์ เป็น 70 ต่อ 30 จาก 33 ต่อ 67 ในปี พ.ศ.2558 และเพิ่มสัดส่วนนักเรียนผู้มีความสามารถพิเศษที่ได้รับการพัฒนาต่อยอดเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3 ของเยาวชนทุกช่วงวัย จากที่น้อยกว่า 1% ใน พ.ศ.2559
สวทน. ตั้งเป้า 20 ปีข้างหน้า เพิ่มบุคลากรวิจัยและนวัตกรรมสามมิติ รองรับภาคการผลิตและบริการจนถึงเพิ่มยอดผลิตบัณฑิต
Reviewed by tonygooog
on
05:30:00
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: